ทำไมคนอีสานสมัยก่อนจึงต้องแลกเปลี่ยนค้าขาย

คนอีสานสมัยก่อนเมื่อราว 60 ปีก่อนขึ้นไปมีการค้าขายน้อยกว่าคนภาคอื่นมาก แต่ก็มีการแลกเปลียนอยู่บ้าง สาเหตุที่คนอีสานต้องมีการแลกเปลี่ยน

ประการแรก เกิดจากในบางปีเกิดภัยแล้ง สมัยก่อนไม่มีระบบชลประทานเหมือนสมัยปัจจุบันต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ทำให้ข้าวไม่พอกิน ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาโดยการเข้าป่าขุดเผือกมัน แม้กระทั่งกลอยเอาต้มกิน บางคนก็กินขุยไผ่คือเมล็ดไผ่ แต่ถ้าของเหล่านี้ไม่พอก็ต้องไปแลกข้าวกับหมู่บ้านที่พอมีข้าวให้แลก ของที่เอาไปแลกก็แล้วแต่มีอะไร เช่น หน่อไม้ ปลาแดก เครื่องจักสาน แย้ กะบอง(ขี้ไต้)

ประการที่สองเกิดจากหลายหมู่บ้านไม่มีดินเค็มจึงผลิตเกลือไม่ได้ บางหมู่บ้านไม่มีช่างปั้นหม้อไม่มีดินเหนียวที่เหมาะกับการทำหม้อไห หลายหมู่บ้านไม่มีช่างตีเหล็ก จึงเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่บ้านที่มีกับไม่มีสิ่งของที่จำเป็นอัตราการแลกไม่แน่นอน ไม่มีการตีราคาเป็นเงิน แต่บางอย่างก็ทำคล้ายๆกันเช่นหม้อดิน 1 ใบแลกข้าวได้ 1หม้อแล้วแต่หม้อใหญ่เล็กที่แลกกัน

ถ้าเป็นเสี่ยวกันหรือญาติต่างหมู่บ้านจะให้มากเป็นพิเศษ

การแลกกันดังกล่าวจึงเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน เห็นอกเห็นใจกันในยามตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งหมู่บ้านส่วนมากก็ล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม จึงคิดเสมอว่าวันนี้เขามาพึ่งเรา วันหน้าเราก็อาจไปพึ่งเขา

ส่วนการคัาขายคือการเอาของไปแลกเงินในอีสานเกิดจากรัฐเปลี่ยนระบบการเสียส่วยที่เป็นสิ่งของเช่นผลเร่ว(หมากแหน่ง)ชายฉกรรจ์คนละ 12กก. หรือผ้าขาวคนละ สิบผืน ป่านคนละ12  กก. ในปี 2444  รัฐบาลเปลี่ยนมาให้เสียเป็นเงิน คนละ  4 บาท(เงินสี่บาทสมัยนั้นซื้อวัวได้  1  ตัว)เรียกว่าเงินรัชชูปการ

ต่อมาในสมัย ร. 6 รัฐบาลได้เพิ่มภาษีการศึกษาหรือศึกษาพลีอีกคนละ     2 บาท รวมรัชชูปการอีก  4   บาทเป็น     6   บาท (เท่ากับควายตัวหนึ่ง)

ผลคือชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะสังคมอีสานสมัยนั้นเป็นสังคมที่พอเพียงพึ่งทรัพยาการในปริมณฑลของหมู่บ้านและแรงงานคนในครอบครัว ถ้าเหลือบ่าฝ่าแรงก็ไหว้วานญาติ เพื่อนบ้านมาช่วยได้เสมอเช่นยกเรือน เกี่ยวข้าว จึงเป็นสังคมที่ไม่ใช้เงินตรา ชาวบ้านก็อยู่ได้ เมื่อรัฐต้องการเงินชาวบ้านจึงต้องหาของไปขายซึ่งลำบากมากเพราะไม่ค่อยมีตลาด ผู้เขียนสัมภาษณ์ผู้เฒ่าวัย88 ปีที่อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2526 เล่าว่าต้องหาบไก่สิบหกตัวไปขายเจ๊กที่ตลาดโคราช ซึ่งไกลจากหมู่บ้านถึง ถึง 140  กม,

อีสานเมื่อศตวรรษก่อนมีควายมากมาย ใครที่ควายสามสี่ตัวถือว่ายากจน คนที่มีฐานะดีมีควาย    40    ตัว บางคนมีเป็นร้อยตัว ควายจึงเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่คนอีสานสมัยนั้นเอาขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน แต่ในอีสานคนมีควายมากแล้วขายไม่ได้ตลาดควายจึงอยู่ที่ภาคกลางและพม่า บางส่วนแถวอุบลก็เอาขายในโคชินจีนของฝรั่งเศส

ภาคกลางของไทยพิ้นที่นาขยายตัวมากหล้งสัญญาเบาริ่งไม่นานจึงต้องการควายมาก ตอนล่างของพม่าก็ขยายตัวเหมือนกันจึงมีนายฮ้อยกุลาซื้อควายไทยปีละราวสี่หมื่นตัวส่วนมากมาจากอีสาน

การเก็บภาษีเป็นเงินทำให้เกิดการคีาขายในภาคอีสานและเกิดอาชีพนายฮ้อยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น