รถโดยสารรุ่นแรกของอีสาน

รถยนต์ที่มาวิ่งในภาคอีสานครั้งแรกคือ รถพระที่นั่งของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชากรมรถไฟหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงขับรถดังกล่าวมาตรวจราชการในภาคอีสาน ในพ.ศ. 2465 ส่วนรถโดยสารคันแรกเท่าที่มีหลักฐานมาวิ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในพ.ศ. 2469 แต่ไม่มีรายละเอียด สถิติรถยนต์ที่เก่าที่สุดคือในปี 2480 มีรถโดยสารทั้งภาคอีสานเพียง 21 คันมีเพียง 6 จังหวัดที่มีรถโดยสาร  ในปี 2503 มี 353คัน  ปี 2513 มี 1689 คัน  ปึ 2531 มี 13,035 คัน  ปี 2536 มี 18,117 คัน และ ปี 2556 มี 25,126 คัน

จากการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งบริษัทรถโดยสาร พบว่าการเกิดขี้นของรถโดยสารมีความคล้ายคลึงกัน คิอเริ่มต้นจากรถบรรทุกข้าว และต่อมาก็กลายเป็นทั้งบรรทุกข้าวและบรรทุกคน สมัยนั้นไม่ต้องขออนุญาตเส้นทาง ใครมีรถอยากจะวิ่งเส้นทางใดก็ได้ เนื่องจากมีรถน้อยมากๆ

จะยกตัวอย่างรถสายขอนแก่น-เมืองเลย ผู้ก่อตั้งเดิมขับรถบรรทุกข้าวสารของเถ้าแก่ซึ่งเป็นญาติกันจากโรงสีที่ชุมแพ มาส่งที่ขอนแก่น ในปี 2487-2488  มีชาวบ้านที่ชุมแพบ้าง หนองเรือบ้าง ดอนโมงบ้าง ขอโดยสารมาด้วยเขาก็รับมา ทีแรกก็ไม่ได้เก็บเงิน แต่ชาวบ้านเขาเกรงใจก็ยัดเยียดให้ ตั้งแต่นั้นมารถบรรทุกข้าวก็กลายเป็นทั้งรถบรรทุกและรถโดยสาร สมัยนั้นถนนยังเป็นหลุมเป็นโคลน รถจึงวิ่งเพียงวันละสองเที่ยวคือ เช้า 1 เทึยว บ่ายสามโมงอีก 1 เที่ยว ระยะทางจากชุมแพถึงขอนแก่น 80 กม. ใช้เวลาวิ่ง 2-3 ชม.

ในปี 2497 เขาก็ลาออกจากเถ้าแก่ มาทำกิจการของตนโดยซื้อ รถ Desoto รถอเมริกัน ของเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สอง (2482-2488) ราคา 48,000 บาท มาบรรทุกข้าวแถบเมืองเลย วังสะพุง มาส่งที่ขอนแก่น ช่วงนั้นเมืองเลยไม่มีรถโดยสารสักคัน จึงมีพ่อค้าที่มาซื้อของที่ขอนแก่นเอาไปขายที่เมืองเลยขอโดยสารมาด้วย จึงเป็นรายได้อีกทาง แต่สมัยนั้นถนนเมืองเลย-ขอนแก่นมีสภาพแย่มาก โดยเฉพาะฤดูฝน รถติดหล่มบ้างผู้โดยสารก็ลงมาช่วยเข็น บางทีสะพานขาด ในรถของเขาต้องมีขวาน ค้อน ตะปู เลื่อย เอาไว้ตัดไม้ข้างทางมาซ่อมสะพานที่ขาดหรือชำรุดมาก ระยะทางไป-กลับ เมืองเลย-ขอนแก่น 412 กม ใช้เวลาวิ่ง 4-5 วัน หลายครั้งที่รถเสียกว่าจะไปซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนก็หลายวัน แต่ชาวบ้านที่จะไปขอนแก่นก็ต้องมารอทุกวัน เพราะรถมีอยู่คันเดียว ปัจจุบันรถสายขอนแก่น-เมืองเลยมี 45 คัน เป็นของเขา 5 คัน เขายังเป็นผู้ก่อตั้งรถสายขอนแก่น-เชียงใหม่  สายขอนแก่น-บัวใหญ่ และสายอุดร-กรุงเทพฯ อีกด้วย


การบรรทุกคนและสินคัาทางบกของไทยสมัยก่อนใช้เกวียนเป็นหลัก


รถโดยสารกำลังจะข้ามแม่น้ำสายหนึ่งในอีสาน ถ่ายราวปี 2505 พอถึงฤดูฝนเมื่อระดับน้ำสูงถึงเครื่อง รถจะหยุดให้บริการจะต้องรอน้ำลดพอรถวิ่งได้จึงจะเปิดบริการอีก


รถโดยสารบริเวณใกล้หอนาฬิกา เมืองมหาสารคาม ถ่ายในปี 2505 รถโดยสารรุ่นนี้ชาวบ้านเรียกรถคอกหมู มีที่นั่งเป็นไม้ปูยาวสองแผ่นขนานไปกับตัวรถ สินค้าส่วนใหญ่เอาไว้บนหลังคา ถ้าผู้โดยสารข้างล่างเต็มจะให้ผู้ชายขึ้นไปนั่งบนหลังคา


รถโดยสารในเมืองมหาสารคาม ถ่ายในปี 2506


ม้าและเกวียน พาหนะทางบกที่สำคัญในสมัยก่อน ถ่ายในสมัย ร.5


ภาพรถโดยสารสายขอนแก่น-น้ำพองรุ่นแรกยังให้บริการในปี 2538 แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว


รถโดยสารรุ่นแรกๆระหว่างขอนแก่นกับหมู่บ้านใหญ่ๆในปี 2538 ยังให้บริการ แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว


รถโดยสารสายขอนแก่น-บ้านทุ่ม รุ่นแรก ในปี 2538 เลิกใช้แล้ว

ที่มา: สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ช่อ วายุภักตร์ รายงานการวิจัยบทบาทของรถยนต์ญี่ปุ่นในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมอีสาน. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ The Sumitomo Foundation 1995

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บบล็อก 18 กรกฎาคม 2558
  http://suwit-history.blogspot.com/

7 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากค่ะ ที่ทำให้ได้ทราบข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยทราบมาก่อน

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. ได้รับความรู้ใหม่ที่ดีมากครับ ขอบคุณครับอาจารย์ รถโดยสารคอกหมูมีเสน่ห์มาก แต่หาดูยากแล้วในปัจจุบัน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ผมนำมาเขียนเพราะความรู้เหล่านี้คนรุ่นต่อไปจะหาอ่านไดัยากแล้วครับ

      ลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ30 มีนาคม 2559 เวลา 17:05

    ดีมากครับอาจารย์

    ตอบลบ
  5. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ