เพราะเหตุใดคนไทยสมัยก่อนจึงค้าขายสู้คนจีนไม่ได้

คำถามตามชื่อบทความนี้ คำตอบคือคนจีนขยันมัธยัสถ์และขยันกว่าคนไทย คำตอบนี้ไม่ผิด แต่ก็มิใช่จะมีแค่นี้ เมื่อผู้เขียนได้วิจัยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัย กรุงธนบุรีถึงสมัย ร.3 จึงได็คำตอบที่แท้จริงว่าการค้าไทยถูกคนจีนครอบครอง นอกจากเพราะคนจีนขยัน ประหยัดแล้วยังมีเหตุผลอีกสามประการ

1.ระบบไพร่ทำให้คนไทยไม่มีเวลาค้าขาย การค้าต้องทำต่อเนื่องมิฉะนั้นลูกค้าหายหมด คนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ราว 83% เป็นไพร่และทาส ไพร่ชายทุกคนจะต้องเข้าเดือนออกเดือน(ไปอยู่เวรรักษาป้อม ประตูเมือง ขุดคูซ่อมวัง  กำแพงเมืองฯลฯ)ปีละ 6เดือนโดยเข้าเวรหนึ่งเดือน ออกเวรหนึ่งเดือนสลับกัน ต่อมาต้น ร.1ลดเหลือเข้า 1 เดือน ออก 2 เดือนสมัย ร.2-5  เข้า 1 ออก 3 เดือน ในระหว่างเข้าเดือนไพร่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีอาหาร เสื้อผ้าแจก ไพร่ต้องจัดหามาเองทุกอย่าง

2,ระบบภาษี   เจ้า ขุนนางไม่ต้องเสียภาษี แต่ไพร่รับภาระภาษีทุกอย่าง ในสมัย ร.3 ภาคกลาง เสียอากรมากชนิดที่สุดคือ17ชนิด เช่น อากรค่านา เสียไร่ละ สองสลึง 1 เฟื้อง หรือเสียเป็นข้าวเปลือกไร่ละ 2 ถัง ทำสวนต้องเสียอากรสวนใหญ่ มีไม้ผล สิบชนิดที่ต้องเสีย เช่น ทุเรียน มะม่วง ต้นละ 1 บาท(ทองสมัยนั้นหนัก 1บาทราคา10-11 บาท) มังคุด ลางสาดต้นละ 1 เฟื้อง(12.5 สต) แต่ถ้าอากรสมพัตสร ที่เก็บจากผู้ปลูกไม้ล้มลุก เสียเป็นไร่ ถ้าปลูกสามคร้งก็ต้องเสียสามครั้งในปีนั้น เช่น ปอกระเจา  ถั่วเขียว ถั่วแระ มันเทศ กัญชาไร่ละ 2 สลึง ฝ้าย ขิง ถั่วสิลง ไร่ละ 1 บาท มีพืช 37 ชนิดที่ต้องเสียอากรนี้ ใครจับสัตว์น้ำก็ต้อง อากรค่าน้ำตามชนิดของเครื่องมือเช่น อวน ปากละ 16 บาท แหคนละ บาท  เบ็ดราว คนละ 2สลึง มีเครื่องมือจับปลา 76 ชนิดที่เสียอากรค่าน้ำ ใครค้าขายเสียอากรตลาดตามขนาดของแผง ร้านเช่นกระเดียดเร่ วันละ 10 เบี้ย หาบเร่ 15 เบี้ย แผงลอย 20  เบี้ย ร้านขายเครื่องทองเหลือง ผ้า  เครืองทอง ปีละ 4-6 บาท นอกจากนี้มีภาษีอีก 42 ชนิด รวมอากรและภาษี 59 ชนิด เพื่อให้การเก็บอากรได้มากที่สุด โดยรัฐเสียค่าจัดเก็บภาษีอากรน้อยที่สุด รัฐจึงให้คนมาประมูลใครให้เงินรัฐมากที่สุด คนนั้นจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีอากร แน่นอนคนที่เข้ามาประมูลส่วนมากเป็นขุนนางและคนจีน แต่ในระยะหลังจะเป็นคนจีนเป็นส่วนใหญ่ คนเหล่านี้พยายามเก็บภาษีให้ได้มากที่สุดตามอัตราที่รัฐกำหนด ไพร่ต้องเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมสูงถึง 59.53% ได้ทั้งหมด เมื่อคนไทยต้องเสียภาษีมากขนาดนี้ จึงไม่มีเงินเหลือไปลงทุนทำธุรกิจการค้าใดๆ

3.คนจีนได้รับอภิสิทธิ์ คือหนึ่ง) ไม่ต้องสังกัดกรมกองเหมือนไพร่ จึงมีเสรีที่จะเดินทางไปค้าขายหรือตั้งรกรากที่ใหนก็ได้ สอง) คนจีนไม่ต้องเข้าเดือนออกเดือนจึงค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง สาม) คนจีนเสียภาษีรายหัวเพียงหกสลึงต่อสามปี ต่อมาสมัย ร. 3 เสีย  4-8บาท ต่อสามปี(1.33-2.66 บาทต่อปี) ในขณะที่ไพร่ หากมีความจำเป็นเช่นเมียออกลูก พ่อแม่ตายต้องไปจัดงานศพ หรือตัวเองป่วย ไพร่ต้องเสียเงินแทนเดือนละ 6 บาท จะเห็นว่าตนจีนมีโอกาสสะสมทุนได้มากกว่าคนไทยหลายเท่า  ยิ่งนานไปทุนสะสมของคนจีนก็ยิ่งมากจนเขยิบฐานะ จากขายแรงงาน มาหาบของขาย มีร้านของตัวเองภายในหนึ่งชั่วคนก็กลายเป็นเจ้าของร้าน บางคนก็กลายเป็นเจ้าสัว
ที่มาภาพPendleton ;University of Wisconcin



ที่มา สุวิทย์ ธีรศาศวัต รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เเศรษฐกิจการเมืองไทยรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชการที่3 (2310-2394)(สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2525)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น