เล่าเรื่องพระธาตุพนมโดยสังเขป

พระธาตุพนมเป็นพุทธสถานที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน ตามตำนานอุรังคธาตุระบุว่าพระธาตุพนมสร้างในพศ.8 แต่นักโบราณคดีดูจากสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมระบุว่าสร้างหลัง พ.ศ.1200  สร้างเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า

ผู้นำในการก่อสร้างมี 5 คนคือพญาจุลมนีพรหมทัตแคว้นจุลนี (ในเวียดนาม) พญาอินทปัตถนครจากเมืองอินทปัตถนคร (ในกัมพูชา) พญาคำแดง เมืองหนองหานน้อย(กุมภวาปี) พญานันทเสนเมืองศรีโคตบูร (นครพนม) และพญาสวรรณภิงคาร เมืองหนองหาน (สกลนคร)

บริเวณที่ก่อสร้างเดิม เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดูซึ่งคนแถบนี้นับถือมาก่อนแต่ร้างไปนานแล้ว ศิลปะและรูปแบบการก่อสร้างผสมผสานกันหลายกลุ่มมีทั้งแบบทวารวดี ขอม พื้นเมืองที่นี่ และเวียดนาม

รูปแบบโครงสร้างของพระธาตุพนมได้ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงสมัยของการบูรณะซึ่งมี7ครั้ง

ครั้งที่ 1 พญาสุมิตธรรมวงศาแห่งมรุกขนคร (นครพนม) ทรงของพระธาตุคลัายแตงโมที่มียอดแหลม

ครั้งที่ 2 ปี 2157 มีพระยานครหลวงพิชิตราชธานีแห่งศรีโคตบูร(นครพนม)เป็นประธานบูรณะ สร้างกำแพงล้อม ประตูโขง

ครั้งที่ 3 ปี 2236-45 มีเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก(ท่านเกิดที่หนองบัวลำภู) แห่งเวียงจันทน์เป็นประธาน สร้างอูบสำริดบรรจุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสาริกธาตุ และพระเงิน พระทอง พระแก้ว และอัญมณี

ครั้งที่ 4 ปี 2350-56 พระเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์เวียงจันทน์ประธานบูรณะทำฉัตรทองประดับเพชรพลอยราว200เม็ด

ครั้งที่ 5 ปี 2444 พระครูวิโรจน์รัตโนบล แห่งวัดทุ่งศรีเมือง อุบล เป็นประธานโบกปูนทั้งองค์ ลงรักปิดทอง ส่วนบนบุแผ่นทองประดับ

ครั้งที่ 6 ปี 2483-4 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้กรมศิลปากรเสริมองค์พระธาตัให้สูงอีก14.5 เมตร เพื่อให้คนฝั่งซ้ายได้เห็นและเกิดแรงจูงใจอยากมารวมกับฝั่งขวา

ครั้งที่ 7 ปี 2497 รัฐบาลจอมพล ป.สั่งให้สร้างฉัตรทองจากทองและเงินที่ประชาชนบริจาค แทนฉัตรเก่าที่พระเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างซึ่งเอาลงมาเก็บไว้ในวัด และโบกปูนใหม่

ต่อมาอีก 21 ปี พระธาตุพนมก็ถล่มลงมาในวันที่11 สค.2518 เวลา 19.38 น.สาเหตุที่ถล่มมาจากแผ่นดืนไหวในเดือนมีนาคม 2518 เกิดรอยร้าว ต่อมาในเดือน สิงหาคม ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้ปูนอิฐที่ก่อและฉาบไว้อ่อนตัว ทำให้รอยแตกขยายใหญ่และยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  4 วันก่อนถล่ม เจ้าอาวาสได้ส่งหนังสือแจ้งกรมศิลปากรให้มาตรวจสอบโดยด่วน ก่อนพระธาตุถล่มไม่ถึงสอง ชม.เจ้าอาวาสได้ระดมพระเณรขนพระพุทธรูปที่ตั้งราว300 องค์ ที่ตั้งอยู่รอบพระธาตุพนมออกมา ขนเสร็จได้แค่ 30 นาที พระธาตุพนมก็ถล่มลงมากองกับพื้น

คืนนั้น เจ้าอาวาสได้ตั้ง กก.มีทั้งพระ เณรตำรวจและฝ่ายปกครองดูแลสิ่งของมีค่าที่กระจายลงมาพร้อมกับพระธาตุ มีกก.ทำบัญชีสิ่งของดัวกล่าวด้วย

รัฐบาลเร่งสร้างพระธาตุพนมขึ้นใหม่เพราะ จิตใจของคนอีสานและคนไทยว้าเหว่สับสนมากเพราะในเดือนเมษายนปีนั้น เขมรแดงยึดเขมรได้ทั้งหมด ไม่กี่วันต่อมาเวียดนามเหนือยึดเวียดนามได้ และในเดือนสิงหาคมที่พระธาตุพนมถล่มลาวแตก ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดลาวได้ทั้งหมด คนไทยเกิดความกล้วว่าไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย พระธาตุพนมถล่มจึงเป็นเหมือนลางร้าย รัฐบาลจึงต้องสร้างพระธาตุพนมขึ้นใหม่เพื่อเรียกขวัญคนไทยกลับมา

พระธาตุพนมที่เราเห็นทุกวันนี้คือพระธาตุที่สร้างใหม่ที่มีรูปทรงคล้ายองค์เก่า

งานสมโภชพระธาตุมีทุกปีในเดือนสามตามแบบที่ปฏิบัติกันมาหลายศตวรรษ พระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่คนอีสานนับถือกันมากที่สุดมาแต่โบราณ ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ผู้เฒ่าในจ.ขอนแก่น ชัยภูมิ เมื่อปี 2526  ท่านเล่าให้ฟังว่าคนสมัยก่อน(ราวๆ2460-2480) ไม่มีรถโดยสาร เวลาไปไหว้พระธาตุพนมต้องเดินเท้าเป็นกลุ่มๆเป็นสัปดาห์กว่าจะถึง ไหว้พระธาตุและชมงานสักสองสามวันก็เดินเท้ากลับหมู่บ้านของตน นี่คือความศรัทธาในพุทธศาสนาของคนสมัยก่อน

พระธาตุพนมถ่ายเดือนพย.2559

พระธาตุพนมถ่ายเมื่อ พย. 2559

อูบสำริดพระครูโพนสะเม็กสร้างบรรจุพระบรมสาริกธาตุและอัญมณี

ฉัตรทองที่พระเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างปี2356

ภาพโครงสร้างพระธาตุพนมสมัยต่างๆ ก่อนถล่มในปี2518

ร้านค้าในพื้นที่รอบๆวันมีขายทุกวัน เป็นพื้นที่ซี่งชาวบ้านนับร้อยครัวเรือนมีอาชีพเลี้ยงครอบครัว


1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากค่ะ ที่มาเล่า เพราะบ้านฉันก็อยู่ที่นครพนม ซึ่งไม่รู้มาก่อนว่าเป็นแบบนี้ ขอบคุณมากค่าาาา

    ตอบลบ