ไหหินภาค 2

ผมที่ทุ่งไหหิน หน้าโลงหิน(ถ่ายเมื่อ26กค.2549)
ผมต้องเขียนเรื่องไหหินอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเขียนเรื่องนี้เมื่อ เดือนกรกฎาคม 2560 เพราะได้อ่านบทความในสารคดี ฉบับ ตค.2560 หน้า40-49 ของ รชฏ มีตุวงศ์ เป็นบทความเรื่องไหหินที่ดีที่สุดที่เคยอ่านมา หลายท่านไม่มีโอกาสได้อ่านวารสารนี้ ผมจึงขอนำมาเล่าอย่างสรุปอีกที

ผู้สร้างไหหินในลาวคือชาวขมุหรือข่าซึ่งเป็นคนที่มีชีวิตในลาวไทยตั้งแต่สมัยหินถึงปัจจุบัน นี่เป็นความเห็นของ ศ.ปรานี วงษ์เทศ ม.ศิลปากร ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะคนกลุ่มนี้เก่งเรื่องถลุงเหล็กมีภาพขมุที่ฝรั่งพบในลาวตีเหล็กในสมัย ร.4-5 การสร้างโลงจากหินต้องใช้เหล็กสกัด

แหล่งที่มีหินที่เอามาทำโลงหินมักอยู่ไม่ห่างจาก พื้นที่ซึ่งจะตั้งโลง บาง พื้นที่ห่างไป1-2กม. แต่แหล่งที่ผลิตโลงอันใหญ่สุดและเป็นเหมือนพระเอก (หนักราว 15 ตัน ขนาด 2×2.5 เมตร) มาจากภูเค็ง ซึ่งห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 9 กม.หินที่ใช้ 88% เป็นหินทราย ที่เหลือเป็นหินกรวด หินปูน

วิธีขนไหหินมาอาจใช้เรือแพ ช้าง ถ้าไม่ใหญ่ใช้แรงคน

พื้นที่ไหหินกระจายอยู่ในแขวงเชียงขวางมากที่สุด แขวงหลวงพระบางมีเพียงเล็กน้อยที่ภูคูน โดยกระจายราวๆ100กลุ่ม มีไหหินมากกว่า 2000ใบ ในพื้นที่ราว5500 ตารางกิโลเมตร

แหล่งที่เป็นไฮไลท์ของไหหินคือแหล่งที่ 1 ซึ่งมีไหหินใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ซึ่งใครที่มาทุ่งไหหินต้องไปชมรวมทั้งผมด้วย มีไหหิน339 ใบแต่แหล่งที่มีไหหินมากที่สุดอยู่ที่บ้านป่าแก้ว เมืองแปก แขวงเชียงขวาง มี 371 ใบ

มีนักโบราณคดีหลายคนขุดตรงใกล้ไหหิน พบภาชนะดินเผาใส่กระดูกที่เอามาจากไหหิน นี่คือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 คือครั้งที่1 ใส่ในไหหิน จนเนื้อเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก หลายปีต่อมาจึงเอากระดูกนั้นมาใส่หม้อดินฝังครั้งที่สอง ซึ่งผมเคยเห็นการฝังครั้งที่2 ตอนไปวิจัยเผ่าข่าเลิง(กะเลิง)ในอ.คำชะอี น.มุกดาหารเมื่อราว20กว่าปีที่แล้ว

รชฏ ยังได้ค้นคว้าต่อไป พบว่าในแขวงหัวพันหรือซำเหนือ มีวัฒนธรรมหินตั้งของคนสมัยหินโดยการสร้างแท่งหินเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ทำเป็นโลงเพียงตั้งไว้ตรงที่ฝังศพ

รชฏ ยังพบว่าในภาคเหนือของเมืองไทยมีความเชื่อในเรื่องการฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจ.เชียงรายและพะเยาซึ่งที่น่าสนมากคือที่ดอยวง ดอยเวียง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงรายมีไหหิน ทรงสี่เหลี่ยมขนาด 1×1.3 ม. อายุ 3000-5000 ปี ส่วนที่ อ.พาน อ.เทิง อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.เมือง จ.พะเยา มีหินตั้ง ปักตรงที่ฝังศพ นี่คงเป็นยุคต้นๆของวัฒนธรรมหินตั้งในไทย ส่วนในลาวทุ่งไหหินเป็นพัฒนาการขั้นที่สองคือสร้างโลงหินเพื่อใส่ศพเป็นการฝังครั้งที่ 1 เพื่อรอเวลาฝังครั้งที่ 2 ไม่กี่ปีต่อมา

น่าจะมีนักโบราณคดีทำวิจัยต่อที่ดอยวง ดอยเวียง เชียงรายนะครับ



ผมกับดร.เบ็ญจวรรณ นาราสัจจ์และดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์หน้าโลงหินที่ใหญ่มี่สุดในทุ่งไหหิน(ถ่ายเมื่อ26กค.2549)


1 ความคิดเห็น: